TERMTEM STUDIO

View Original

SURIN Trip before 2020 //termtem studio

เป็นการเริ่มต้นปี 2020 ที่ดีสำหรับการได้หยุดพัก เติมพลัง เติมไฟ ให้กับทีมงานเติมเต็มสตูดิโอ เราทั้งหมดได้มุ่งหน้าสู่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อพบกับครู อาจารย์ เพื่อน พี่ๆ และช่างทอผ้าของพวกเรา สวัสดีปีใหม่ 2020 ก่อนเดินทางกลับไปสุรินทร์ ทีมงานของเรามีคำถามในใจว่า

“การย้อมสีธรรมชาติแบบภูมิปัญญาใช้วิธีแบบพื้นบ้าน นั้นมันจะให้สีสดและสวยขนาดไหนนะ ?”

“ทำอย่างไรที่จะได้การย้อมสีเส้นไหมที่ได้สีที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับการทำงานในแบบเติมเต็มสตูดิโอ ?”

เริ่มต้นออกเดินทางกันด้วยการแวะเจอพี่เจี๊ยบและพี่เอก แห่งบ้านเฮาเสาไห้ กลุ่มไทยวน ในจังหวัดสระบุรี พี่ทั้งสองเป็นพี่สาวพี่ชาย ที่เรานับถือ พี่ทั้งสองกลับบ้านเกิดเพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าจกในวัฒนธรรมไทยวนของอำเภอเสาไห้ ให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง พี่เจี๊ยบกลับมาฝึกฝนตนเองจนเชี่ยวชาญในการทอผ้าจก เกือบ 7 ปีแล้วที่แพรวารู้จักกับพี่ทั้งสอง ความมุ่งมั่นขอทั้งคู่ยังคงฉายออกมาทางสายตาและน้ำเสียงของทั้งคู่ เมื่อพูดถึงการทำงานของพวกเขา เราก็ขอไปดูดพลังงานดีดีเติมเต็มหัวใจของชาวเติมเต็มสตูดิโอ เพื่อเดินทางต่อ (ใครอยากติดตามผลงานของพี่ทั้งสองสามารถติดตามและไปเยี่ยมชมได้ที่ Thai Yuan Culture of art ศิลปวัฒนธรรมไท-ยวน จังหวัด สระบุรี อำเภอเสาไห้)

หลังจากที่เราไปขอดูดพลังงานกับพี่เจี๊ยบและพี่เอก เราก็มุ่งหน้าสู่จังหวัดสุรินทร์ ต้นกำเนิดการทอผ้าของเติมเต็มสตูดิโอ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงเป็นจังหวัดสุรินทร์ 

จังหวัดสุรินทร์ คือบ้านเกิดของคุณแม่ (คุณจุฬาพร มูลศาสตรสาทร ผู้หญิงที่มีพลังงานล้นเหลือ) ของแพรวา รุจิณรงค์ เป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กน้อย ฝันที่จะอยากทอผ้าการติดตามแม่ไปร้านขายผ้า ติดตามคุณตาและพ่อออกพื้นที่ไปตามหมู่บ้านในชนบท เห็นกี่ทอผ้าใต้ถุนบ้านมันหล่อหลอมให้แพรวา เดินสายที่จะเรียนและทอผ้าเป็นอาชีพ 

เมื่อถึงสุรินทร์ในวันแรก เราเริ่มย้อมผ้ากันเลย โดยมีนักศึกษาจากราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ นำทีมโดย อาจารย์ ทศนียา นิลฤทธิ์ หรือที่ใครๆเรียกว่า อาจารย์เต้ย ร่วมกิจกรรมย้อมสีธรรมชาติภูมิปัญญาของจังหวัดสุรินทร์ จากแม่ครูที่ศูนย์ศิลปาชีพอีสานใต้จังหวัดสุรินทร์ พร้อมกับการไหว้ครูในแบบฉบับพื้นบ้านเพื่อบอกกล่าว ครู อาจารย์ อวยพรให้เราย้อมสีได้ตามที่เราต้องการ วัสดุที่นำมาสอน ก็จะมี ครั่ง ประโหด แข สิ่งที่เราได้จากไปเรียนการย้อมกับแม่ๆ คือเราต้องอย่างกวัสดุย้อมสี สกัดสีแบบคนใจกว้าง ใส่วัสดุให้สีในปริมาณที่พอดีกับเส้นใย สารติดสีที่นำมาใช้ ก็สามารถปรับให้เข้ากับการย้อมในแบบคนกรุงเทพ อาทิ ใบมะขาม ใบชงโค สารส้ม เป็นต้น นอกจากความรู้ที่เราได้แล้ว ทีมงานเติมเต็มสตูดิโอ ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้การก่อหม้อครามในแบบฉบับเติมเต็มสตูดิโอให้กับแม่ๆที่ศูนย์ศิลปาชีพอีกด้วย

“เสียงหัวเราะ ความสนุก และความอบอุ่นจากทุกคน ที่ช่วยกันย้อมเส้นไหม ให้ได้สีสดใสและเข้มสมใจ ทีมเติมเต็มสตูดิโอ” พลังงานดีๆที่ได้แบ่งปันกัน 

วันที่สองเป็นช่วงเวลาที่เราได้ไปร้านเอกอนันต์ไหมไทย ร้านนี้ตั้งอยู่บริเวณสถานีขนส่ง ถนนเส้นที่ไปสถานีรถไฟ เป็นร้านที่เมื่อเราเดินเข้าไปจะพบกับชั้นวางผ้าไหมสีพื้นที่มีแทบทุกเฉดสี และอุปกรณ์ทอผ้าตั้งแต่เส้นไหม ฟันหวี กระสวย ไม้ไผ่ และกี่ทอผ้า ไปจนถึงสีย้อมผ้า ร้านเอกอนันต์ไหมไทย คือขุมสมบัติของช่างทอผ้าในเมืองกรุง ที่หาอุปกรณ์ทอผ้าแสนจะยากเย็น ร้านนี้บริการส่งของให้กับลูกค้าอีกด้วย ที่สำคัญทายาทที่สืบทอดกิจการในปัจจุบันคือ พี่กอล์ฟ ที่แนะนำทุกอย่างว่าอันนี้เหมาะกับการใช้งานแบบนี้ อยากได้อะไรพี่หาให้ ใครที่เคยมาเติมเต็มสตูดิโอ ในซอยลาดพร้าว 15 จะเห็นกี่มากมายที่ตั้งอยู่ กี่เหล่านี้มาจากร้านเอกอนันต์ไหมไทยทั้งหมด ร้านนี้เปิดกิจการมานานมากจริงๆ แพรวาเกิดมาก็เห็นร้านนี้แล้ว ใครสนใจติดตามและหาซื้อผ้าไหมสวยๆได้ที่ https://www.facebook.com/AekAnantThaisilk/

การกลับมาสุรินทร์ในรอบนี้ของแพรวา เป้าหมายที่สำคัญคือการกลับมาไหว้บรรพบุรุษ ครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้ว เราเดินสายทำบุญ ไหว้พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง(เชียงปุม) ผู้ก่อตั้งเมืองสุรินทร์ ไหว้คุณทวดขุนมูล ไหว้คุณตา ไหว้แม่  และไหว้บรรพบุรุษสายทอผ้า เต็มอิ่มไปด้วยการบอกกล่าวว่า ขอพรให้เติมเต็มสตูดิโอมีพลังและขอให้สนับสนุนในการทำงานทอผ้าของพวกเรา (ทริปสวัสดีทางโลกและทางธรรม) 

นอกจากนั้นเรายังได้แวะไปศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ จ.สุรินทร์ พาทีมเติมเต็มสตูดิโอ เข้าไปดูจุดเริ่มต้นของเส้นไหม กว่าจะได้มาซึ่งเส้นไหม ต้องดูแลตั้งแต่ต้นหม่อน ดูแลหนอนไหมยิ่งกว่าลูก ต้องสับใบหม่อนให้พอเหมาะกับช่วงอายุของหนอนไหม เมื่อหนอนไหมทำรังเป็นดักแด้ ก็เก็บรังไหมมาสาวได้เส้นไหมที่สวยงาม (อันนี้ส่วนตัวสุดๆ หลายคนชอบบอกว่าไม่อยากใช้ไหมเพราะไม่อยากฆ่าหนอนไหม แต่คุณต้องมาดูกระบวนการต่างๆ ก่อนว่าเราใช้เส้นไหมอย่างรู้คุณค่า ทุกขั้นตอนเราเคารพหนอนไหมที่ยอมตายเพื่อให้ได้เส้นใยที่สวยงาม ถ้าใครมาเติมเต็มสตูดิโอ แล้วพูดว่าอยากใช้ วัสดุอื่นเพราะไม่อยากฆ่าหนอนไหม กรุณาเชิญสตูดิโอทอผ้าอื่นได้เลยค่ะ ) หลังจากนั้นเราก็แวะร้านค้าขายผ้าไหม และโรงงานสาวไหมบ้านแบบอุตสาหกรรม ตื่นตาตื่นใจมาก หลายคนจะงงว่า ไหมสาวอุตสาหกรรมกับไหมสาวบ้านคืออะไร จะอธิบายแบบนี้ คือไหมอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรที่สาวไหมให้ได้ขนาดเส้นและการตีเกลียวที่หลากหลาย การสาวไหมบ้านคือ การสาวเส้นไหมด้วยหมอต้ม พวงสาวเพื่อตีเกลียวแบบพื้นบ้าน ขนาดเส้นไหมจะขึ้นอยู่กับฝีมือและความชำนาญของคนสาวไหม จะแบ่งออกเป็น ไหมน้อย ไหมลืบ ไหมแลง และไหมเลย (ถ้าจะให้อธิบายมากกว่านี้ มาลงเรียนกับเติมเต็มสตูดิโอละกันนะคะ สอนโดย แพรวา เองค่ะ)

ในวันสุดท้ายเราตั้งตารอที่จะไปไหว้ครูผู้มอบความรู้ให้กับเราในวัยเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นที่เราค้นพบความชอบและความรักของเราเองที่จะทอผ้าไหม ด้วยเทคนิคการทอผ้าแบบไทย จากการไปฝึกงาน ต้องเล่าว่าในสมัยที่เรากำลังเรียน ปี 3 ( พ.ศ. 2551) เด็กมหาลัยหลายคนเลือกที่จะไปฝึกงานกับแบรนด์ชั้นนำในกรุงเทพ หรือฝึกโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า แต่เราก็ได้เลือกกลับบ้านเพื่อฝึกงานกับ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ที่จันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นการทอผ้ายก 1000 ตะกอที่มีชื่อเสียง การกลับไปสุรินทร์ในครั้งนี้ เราตั้งตาที่จะเจอกับอาจารย์ที่สุด ท่านบอกว่า เช้านี้มาทำบุญที่บ้านอาจารย์ด้วยกันนะ พาน้องๆที่สตูดิโอมาด้วย เรารีบเตรียมตัวตื่นแต่เช้าเพื่อไปช่วยงานบุญที่บ้านอาจารย์

มันเป็นเช้าที่เหมือนย้อนเวลา บรรยากาศในช่วงเวลาในอดีต และช่วงเวลาของเช้านี้ มันช่างอบอุ่น มีแต่เสียงหัวเราะ และความใส่ใจซึ่งกันและกัน แม่ครูที่จันทร์โสม เข้ามากอด และทักทาย บางคนถามว่าสุขสบายดีไหม? บางคนบอกว่านานแล้วที่ไม่เจอกัน แพรวาทำอะไรอยู่? แต่งงานหรือยัง? อย่าลืมชวนแม่ไปงานแต่งงานนะ (ที่สุดในความอบอุ่น) แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเช้านั้น อาจารย์วี กำลังเตรียมเส้นไหมสีน้ำเงิน ด้วยการย้อมสีคราม เทคนิคการก่อหม้อและองค์ความรู้ของอาจารย์ เป็นเทคนิคการก่อหม้อครามเพื่อย้อมไหมโดยเฉพาะ ทุกขั้นตอนต้องเริ่มจากการสังเกต การจดจำ และทดลองปรับตามอากาศ ตามสภาพแวดล้อม ตามวัสดุก่อหม้อคราม และตามเส้นไหมที่ได้มา การทำงานและการย้อมครามของอาจารย์วีดูด้วยจะดูจะง่ายมาก แต่เรารู้เลยว่ากว่าจะออกมาเป็นสูตรก่อหม้อครามแบบนี้ จำเป็นต้องสั่งสมความรู้ และการทดลองจนตกผลึก และทำจนเชี่ยวชาญ ออกมาเป็นกระบวนการที่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง “รักครอบครัวจันทร์โสมาที่สุด ทั้งการสนับสนุน การให้กำลังใจ และสอนแพรวามาตลอด”  สิ่งสำคัญก่อนกลับ คือคำสอนของอาจารย์ที่ให้กับเราคือ

จงเปิดโอกาสที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ จงเป็นน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว และปรับตัวให้ทันยุคสมัยอยู่เสมอ

แล้วเราก็ถึงเวลากลับกรุงเทพ มุ่งหน้าสู่เมื่อหลวง เป็นการกลับสุรินทร์ เติมเต็มพลังงาน เพื่อเริ่มต้นการทำงานใน ปี 2020 นอกจากเราเองที่ได้รับพลังงาน ทีมงานนักออกแบบของเติมเต็มก็มีพลังงานกลับมาทำงานทอผ้าอย่างเต็มที่

#หลังจากกลับมาจากสุรินทร์ ยอ กับเมย์ ทีมนักออกแบบของเติมเต็มก็ย้อมผ้า ก่อครามกันไหมหยุด “พวกหนูเป็นวัยรุ่นหัวใจก่อครามค่ะพี่แพร” ทั้งสองกล่าว ฮ่าฮ่าฮ่า