แล้วช่างทอจะทำได้ไหม?


แล้วช่างทอจะทำได้ไหม? อาจเป็นคำถามยอดฮิตสำหรับนักออกแบบหลาย ๆ คน ที่มักจะเป็นกังวลเมื่อเราสร้างสรรค์ผลงานออกมา แล้วต้องถ่ายทอดสู่กระบวนการผลิต จะด้วยประสบการณ์ หรือ ความซับซ้อนของลวดลายที่คิดก็ตามที ในบทความนี้เติมเต็มสตูดิโอจะพาคุณเข้ามาเปิดมุมมอง ประสบการณ์ (อาจจะ) ใหม่ ที่มีต่อการร่วมงานกับช่างฝีมือ และชุมชนกัน

ตำบลบ้านเต่า อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ

ใส่ใจโลก เรียนรู้กระบวนการ เข้าใจแรงงาน ให้คุณค่าฝีมือ… หลังจากที่เติมเต็มสตูดิโอได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรม “การผลิตผ้าไหมรักษ์โลก” ภายใต้กิจกรรมนวัตกรรมการผลิตผ้าไหมครบวงจร ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้บ้านวังหิน ต.บ้านเต่า อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ โดย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชัยภูมิ จากประสบการณ์ของพี่แพร (แพรวา รุจิณรงค์) ผู้ก่อตั้งเติมเต็มสตูดิโอ ได้ไปลงพื้นที่ด้วยตัวเองพร้อมกับทีมงาน กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตเส้นไหมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะทุกขั้นตอน เป็นกระบวนการผลิตแบบ อีโค (Eco) ที่หมายถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก และใส่ใจคนในชุมชน
เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงหนอนไหม ซึ่งเป็นการปลูกแบบไม่มียาฆ่าแมลง หากตัวหนอนไหมกินใบหม่อนจะทำให้หนอนไหมตายได้ถ้ามีการใช้ยา และส่งผลให้ชุมชนไม่มีเส้นไหมใช้ในการทอผ้า

รังไหมเมื่อต้มแล้ว สามารถนำดักแด้ข้างในมากินได้ด้วย

โดยชุมชนบ้านวังหินนี้มีสวนหม่อนสาธารณะที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล แม่ ๆ สามารถเข้าไปเก็บใบหม่อนมาเลี้ยงหนอนไหมได้ และนี่คือจุดเด่นของชุมชนที่มีอาหารให้หนอนไหมตลอดฤดูกาล จึงผลิตเส้นไหมได้ทั้งปี มาถึงกระบวนการสาวเส้นหากเป็นสมัยก่อนก็จะใช้แรง และฝีมือล้วน ๆ เป็นวิธีการที่อีโค (Eco) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีการที่กินเวลา และเปลืองแรงคนสาวไหม ทำให้กรมหม่อนไหมเห็นถึงการปรับปรุงเครื่องสาวไหม ด้วยการลดขั้นตอนการสาว จากเดิมที่ต้องสาวด้วยพวงสาวเดี่ยวลงกระบุง แล้วจึงนำไปเข้าเหล่ง (เครื่องมือการจัดเรียงเส้นให้พร้อมสำหรับการเข้าไจไหม) กรมฯ จึงพัฒนาเครื่องสาวกึ่งอัตโนมัติที่ใช้ไฟฟ้าช่วยทุ่นแรงคนสาวไหม การใช้แรงงานด้านทักษะ และฝีมือที่ประณีตนั้นเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ แต่ในขณะเดียวกันแง่มุมของการใช้แรงงานที่อาศัยทักษะ การกระชับเวลาผลิตก็จำเป็นเพื่อให้แม่ ๆ ไม่เหนื่อยจนเกินไป ในแง่ของการขายสินค้าก็จะช่วยให้ขายสินค้าได้เร็วขึ้น สร้างรายได้ให้กับชุมชน

การใช้เครื่องมือสาวไหมทุ่นแรงช่วยลดระยะเวลาการผลิต

การใช้เครื่องมือสาวไหมทุ่นแรงช่วยลดระยะเวลาการผลิต

การหาอัตลักษณ์พื้นถิ่นของชุมชนในบางชุมชนก็เป็นเรื่องที่ง่าย แต่ในบางชุมชนก็อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์มากขึ้นสักหน่อย อย่างเช่นชุมชนบ้านวังหินนี้มีความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว มีการนำเทคนิคของท้องถิ่นมาปรับใช้เข้าด้วยกันกับการทอผ้า งานที่ถนัดจะเป็นผ้าทอมัดหมี่ลายขั้น ผ้าขาวม้า และที่สำคัญคือผ้าหางกระรอกที่มีผู้ทอน้อยลงไปทุกที การทอผ้าเป็นการหารายได้เสริม นอกเหนือจากการทำนา ทำไร่ เกษตรกรรมอื่น ๆ ของชุมชน
ที่กล่าวนำมากมายขนาดนี้ เราเพียงอยากจะสื่อสารว่า ก่อนที่นักออกแบบจะออกแบบลวดลาย และกระบวนการผลิตให้แม่ ๆ ผู้ทอ อาจจะต้องหาข้อมูล และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ ทักษะเฉพาะทางของแต่ละพื้นถิ่นก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะงานและเทคนิคที่นักออกแบบต้องการนำเสนอ เพราะถ้าหากนักออกแบบไม่ศึกษา หรือทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ อาจจะสร้างความยากลำบากในการผลิตชิ้นงาน หรืองานอาจจะออกมาในรูปแบบที่ไม่คาดคิด หรือไม่ตรงตามแบบร่างที่คุยกันไว้ ในขณะเดียวกันทางแม่ ๆ เองก็จะเกิดความไม่เข้าใจ และไม่ถนัดในเทคนิคที่นักออกแบบได้วางเอาไว้ อาจใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจ และใช้เวลาทำมากกว่าปกติ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่มากกว่าการสื่อสาร แต่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา และทำความเข้าใจกับชุมชนท้องถิ่นที่เข้าไปทำงานร่วมกันด้วย เพื่อให้งานดำเนินการไปอย่างราบรื่น ได้งานตามความต้องการของทั้งสองฝ่าย ที่กล่าวมานี้ไม่ได้ปิดกั้นองค์ความรู้ใหม่ ๆ แต่เป็นการเพิ่มทักษะ และขยายขีดความสามารถได้อย่างหลากหลาย ฝึกความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มช่องทางการหารายได้เสริม ซึ่งในบางครั้งอาจจะสามารถทำเงินได้มากกว่าอาชีพหลักก็เป็นไปได้

มากกว่าการสื่อสาร แต่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา และทำความเข้าใจกับชุมชนท้องถิ่นที่เข้าไปทำงานร่วมกันด้วย
— Termtem studio
ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบลวดลายให้สอดคล้องกับทักษะ

ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบลวดลายให้สอดคล้องกับทักษะ

โดยการออกแบบลายผ้าในครั้งนี้จะเป็นการออกแบบบนพื้นฐานของทักษะความถนัดเดิมที่ชุมชนมีอยู่ ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการประยุกต์ให้เข้ากับของเดิม ปรับปรุงรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อให้มีความร่วมสมัย ในด้านการลงมือทำ ปัจจัยสำคัญคือ การแบ่งหน้าที่ ทั้งทีมสาวไหม ทีมย้อม ทีมเตรียมเส้นยืน เส้นพุ่ง และทีมทอผ้า เพราะการทอผ้าไม่สามารถทำให้รวดเร็วได้เพียงคนหนึ่งคน แต่ต้องอาศัยการทำงานกันเป็นทีมอย่างรู้หน้าที่ จะทำให้ใช้ระยะเวลาการผลิตน้อยลง เนื่องจากแต่ละขั้นตอนนั้นต้องเชี่ยวชาญ และใช้เวลาในการฝึกฝน ดังนั้นการทำร่วมกันเป็นกลุ่ม แลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยฝึกฝนกันและกันตามความถนัด จึงเกิดการส่งต่อความรู้แบบออร์แกนิค (Organic) จากแม่ ๆ สู่ลูกหลาน ไปจนถึงบุคคลภายนอก เมื่อร่วมมือกันทำงานเป็นทีม ก็จะสามารถร่นระยะเวลาการเตรียมเส้นสำหรับทอ จาก 3 เดือนเหลือเพียง 8 วันเท่านั้น

ปัจจัยสำคัญคือ การแบ่งหน้าที่ ทั้งทีมสาวไหม ทีมย้อม ทีมเตรียมเส้นยืน เส้นพุ่ง และทีมทอผ้า เพราะการทอผ้าไม่สามารถทำให้รวดเร็วได้เพียงคนหนึ่งคน แต่ต้องอาศัยการทำงานกันเป็นทีมอย่างรู้หน้าที่
— Termtem studio
แม่ ๆ ร่วมออกแบบลวดลายผ้า

แม่ ๆ ร่วมออกแบบลวดลายผ้า

การให้คุณค่าของกระบวนการทำผ้าผืน ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงไหมไปจนถึงการทอผ้า ล้วนแล้วแต่ลงแรง ลงความคิด หลายคนอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้วสำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่มองแค่ผ้าที่ทอสำเร็จ

การค้นเส้นยืน (เส้นทอในแนวตั้ง)

การค้นเส้นยืน (เส้นทอในแนวตั้ง)

มุมมองจากนักออกแบบสร้างสรรค์ผ้าทอของเติมเต็มสตูดิโอ ยอ (ศุภิสรา ปิ่นเศียร) ที่ได้ไปลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า “การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนเสริมให้กับชาวบ้านเท่านั้น เพราะต้องให้ความสำคัญกับทักษะ และฝีมือของชาวบ้าน หากคนในชุมชนทำได้จริง และสามารถต่อยอดได้ในอนาคต จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า”

กระบวนการเตรียมเส้นสำหรับทอ จาก 3 เดือน เหลือเพียง 8 วัน

กระบวนการเตรียมเส้นสำหรับทอ จาก 3 เดือน เหลือเพียง 8 วัน

เมื่อร่วมมือกันทำบนพื้นฐานของความเข้าใจ และใส่ใจ อีกทั้งความร่วมมือร่วมใจของทุกคน สิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ “แล้วช่างทอจะทำได้ไหม” ก็สามารถตอบคำถามนี้ได้แล้วว่า “ทำได้จ้า”


ผู้เขียน : วีระภัทร มูลวัน
ภาพ : แพรวา รุจิณรงค์
ข้อมูล : แพรวา รุจิณรงค์
ศุภิสรา ปิ่นเศียร
ณัฐติรัตน์ เกียรติสุต

Previous
Previous

Next
Next

COLOR OF "HOL" FOR TIME // Bangkok Design Week 2020