TERMTEM STUDIO

View Original

History and evolution of HOL fabric in surin province ,Thailand

ภูมิปัญญาผ้าโฮลจังหวัดสุรินทร์ความเป็นและพัฒนาการของภูมิปัญญาผ้าโฮล

จากการศึกษาเฉดสีย้อมธรรมชาติจากภูมิปัญญาผ้าโฮลในจังหวัดสุรินทร์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ของ แพรวา รุจิณรงค์ หัวใจสำคัญของภูมิปัญญาคือ การศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคม ที่มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต การรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลด้านการปกครอง วัฒนธรรม และสังคมของจังหวัดสุรินท์ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะทราบถึงภูมิปัญญาและลวดลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยการศึกษาพบว่าความเป็นมาของภูมิปัญญาการทอผ้าโฮลในจังหวัดสุรินทร์เริ่มมาจากในช่วงอาณาจักรฟูนัน ชนชาติมอญแขมร์ มีถิ่นฐานเดิมที่ประเทศอินเดีย เรียกตามศิลาจารึกภาษาสันสกฤตว่าเขมร ในพงศาวดารจีนเรียกว่าฟูนัน ตั้งอยู่ที่ฝั่งทะเลแห่งหนึ่ง ทางทิศตะวันออกจดทิศตะวันตกคือพื้นที่สุวรรณภูมิในสมัยของ ภวรรมันได้แผ่ขยายอำนาจเข้าไปในเขตบริเวณภูเขาดงรัก และลุ่มแม่น้ำมูล ต่อมาเจ้าชายจิตรเสน ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนาม “มเหนทรวรมัน” ทรงย้ายเมืองหลวงกลับมาอยู่ในดินแดนแม่น้ำมูลและภูเขาดงรัก มีการสร้างเทวสถานขึ้นในบริเวณนี้หลายแห่งตั้งแต่สร้างปราสาทยุคสมัยเจน และปราสาทหินในยุคหลังสร้างด้วยอิฐไม่สอปูน ซึ่งเป็นศิลปะการสร้างของช่างสกุลจามปาหรือเรียกอีกอย่างว่าสถาปัตยกรรมจาม (กิตติกรณ์นพอุดรพันธุ์, 2554)

ในพุธศตวรรษที่ 17 พ.ศ. 1656-1688 พระเจ้าสุรยวรมันที่ 2 ได้ตั้งนครวัดขึ้นที่อาณาจักรเขมรโดยได้กำหนดหัวเมืองการออกเป็น 3 ภาค ขึ้นตรงต่อส่วนกลางคือนครวัด โดยแบ่งออกเป็น หัวเมืองพิมาน นครราชสีมาในปัจจุบัน หัวเมืองสกลนคร และหัวเมืองละโว้ ปัจจุบันคือจังหวัดลพบุรี โดยในขณะนั้นสุรินทร์ได้รับความรับผิดชอบเป็นหัวเมืองหน้าด้านขนาดใหญ่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีคูน้ำ 2 ชั้นและป้อมกำแพงขนาดใหญ่ จึงเหมาะสมที่จะตั้งเป็นหัวเมืองป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามาโจมตี นครวัดและนครธม โดยจะพบหลักฐานสำคัญ อาทิ ประสาทศีขรภูมิ ปราสาทยายเหงา และทางกำแพงเมืองเดินบริเวณรอบจังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้นอกจากการป้องกันข้าศึกแล้ว บริเวณจังหวัดสุรินทร์ยังเป็นเส้นทางการเดินทางของประชาชนในช่วงเวลานั้น ที่จะเดินทางจากหัวเมืองพิมายเข้าสู่นครวัด โดยจะเห็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประสาทพนมรุ่งและปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทเขาพระวิหาร  

จนถึงกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการพัฒนาระบบการประปาโดยการสร้างสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อใช้ในบ้านเรือนและการเกษตรอาทิปราสาทเขาพระวิหารปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ซึ่งศิลาจารึกเขาพระวิหารหลักที่ 1 หลักที่ 2 ชี้ให้เห็นถึงการมีอำนาจของเขมรโบราณ ได้ระบุว่ามีการสร้างเกษตราธิคม สร้างปราสาทหิน ขุดสระน้ำ และการถวายข้าทาสไว้ดูแลทำนุบำรุงศาสนสถานเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันด้านการทอผ้านั้นก็ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียตั้งแต่ช่วงต้นของยุคฟูนัน ในช่วงเวลาดังกล่าวศาสนาพุทธจากอินเดียได้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาลัทธิมหายาน โดยพรามหมณ์ โกญฑิญญะ ซึ่งเดินทางมาเผยแพร่ในอาณาจักรขอม พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงก่อสร้างอโรคยาศาลจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระพุทธศาสนาใช้เป็นที่พักระหว่างทางและมีแพทย์ดูแลสุขภาพของประชาชนในบริเวณนั้น ในจังหวัดสุรินทร์เองก็พบอโรคยาศาลจำนวนมาก อาทิ ประสาทจอมพระ ประสาทช่างปี่ ปราสาทบ้านเฉนียง เป็นต้น โดยการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในช่วงนั้นไดนำผ้าและวิธีการนุ่งผ้าแบบผ้าปาโตลา Patola สำหรับนุ่งบุรุษเรียกว่า “โธตี” ลักษณะเป็นโจงกระแบนแบบแขก และสาหรีสำหรับสตรีนุ่ง ทำให้ผ้าที่ใช้ในบริเวณอาณาจักรจะเป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากผ้าปาโตลาของแคว้นคุชราต แคว้นโอริสสา ประเทศอินเดีย (พัทธนันท์โอษฐ์เจษฎา& วลัยพรวังคฮาด, 2557)

ภาพการทอผ้าทอปาโตลาหรือมัดหมี่แบบอินเดีย

ภาพวิธีการทอผ้าทอปาโตลาหรือมัดหมี่แบบอินเดียโดยใช้เข็ม

ภาพการเกาะมัดหมี่ของผ้าปาโตลาหรือมัดหมี่แบบอินเดีย

ภาพการมัดหมี่และการมัดย้อมด้วยสารเคมีของผ้าปาโตลาในปัจจุบัน

ที่มา: จาก https://www.lostwithpurpose.com/patan-patola

โดยความโดดเด่นของผ้ามัดหมี่ชนิดนี้ คือมาลวดลายที่มีความเป็นภูมิปัญญาจากทักษะที่สั่งสมและมีลวดลายที่ผ่านการถ่ายทอดมาอย่างยาวนาน ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์คือ ลวดลายเรขาคณิต โดยการจัดองค์ประกอบแบบ ตั้ง ทแยง และลายริ้ว เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากจากเปอร์เซีย (อิหร่านในปัจจุบัน) รูปทรงนก สัตย์ และการร่ายรำ และท่าทางของมนุษย์ต่างๆ รูปทรงดังกล่าวเกิดจากความเชื่อท้องถิ่นของฮินดูโดยใช้เทคนิคการทอมัดหมี่เส้นยืนและเส้นพุ่ง ค้นลำหมี่แบบมัดหมี่โลด หมี่ร่าย และหมี่ขั้น สีที่ใช้คือ ขาว ดำ เหลือง แดง เขียว เป็นสีที่เป็นสัญญาลักษณ์ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของพระพุทธเจ้าในคัมภีร์พระเวท เมื่อผ้าปาโตลาได้เข้ามาในบริเวณอาณาจักรเขมรโบราณ ก็ได้มีการปรับเทคนิคการทอให้เหมาะสมกับทักษะของคนในพื้นที่ จึงปรับเทคนิคการทอมัดหมี่สองทางให้เหลือแต่มัดหมี่เส้นพุ่ง แต่ลวดลายและสียังคงมีลักษณะเช่นเดียวกับผ้าปาโตลาในช่วงสุโขทัย พ.ศ. 1900 พระมหาธรรมราชาที่ 1ราชวงพระร่วงที่6เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหม่ โดยการอพยพเข้ามาของชาวเขมรและชาวกุยหรือส่วย ในช่วงนั้นเองที่เรียกขานบริเวณจังหวัดสุรินทร์ว่า “ หัวเมืองเขมรป่าดง” เนืองจากลักษณะของคนในพื้นที่มีลักษณะสักเลขยันต์ทั้งตัว ผิวคล้ำ จนถึงบริเวณโคนขาลงมาเกือบถึงหัวเข่านุ่งผ้ากางเกงที่เรียกว่าหยักรั้งหรือถกเขมร เมื่อชาวเมืองสุโขทัยเห็นรอยสักยันต์กับสวมกางเกงลักษณะทรงสั้นจึงเห็นเป็นกางเกงสองขั้น โดยมีกลอนบทหนึ่งกล่าวว่า (พวงผกา คุโรวาท.2523:50)

พวกขะแมมีแต่ดำจนคล้ำเขียว

มันแรงเร่ยวผิดมนุษย์สุดสงสัย

บ้างอาบว่านอ่านมนต์จนเจนใจ

จะไปไหนถกเขมรเจนหนทาง

การนุ่งถกเขมรหรือขัดเขมร คือการสวมใส่กางเกงที่ดูทะมัดทะแมง สะดวก และคล่องแคล่วในการทำงาน ทำให้ในต่อมาการนุ่งผ้าโจงกระแบนได้นำแบบการนุ่งถกเขมรหรือขัดเขมรมานุ่งผ้าแบบ “นุ่งโรงเชิง” โดยเป็นการนุ่งผ้าที่มีการเหน็บชายแบบกระเบนเหน็บ

ภาพประกอบ 8ภาพการสวมใส่เสื้อผ้าของขุนนางชาวสยามในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์

ที่มา: จากhttps://en.wikipedia.org/wiki/France%E2%80%93Thailand_relations#/media /File:La_Loubere_Kingdom_of_Siam.jpg

การปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เปลี่ยนแปลงต่างไปจากสุโขทัยแบบพ่อปกครองลูก เป็นลัทธิเทวราชา การปกครองแบบสมมุติเทพในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากเขมรซึ่งเขมรรับมาจากอินเดียตั้งแต่ช่วงอาณาเขมรโบราณ โดยการปกครองรูปแบบนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพลงมาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน(อเนกนาวิกมูล, 2525)ลักษณะการปกครองแบ่งออกเป็น3ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น การแต่งกายของพระมากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนางตลอดจนประชาชน มีรูปแบบการแต่งกายจะมีกฎมณเฑียร พระราชกำหนด จารีต ตำรา โดยมีหลักเกณฑ์ให้แต่งกายให้เหมาะสมตามฐานะ ตามกาลเทศะและสถานที่ รวมถึงการใช้ผ้าแสดงขั้นยศ อย่างการใช้ผ้าของกรุงศรีอยุธยาได้รับ อิทธิพลการต่างการมาโดยตรงจากเขมร โดยมีคำเรียกผ้าชนิดนี้ตามคำออกเสียงแบบเขมร “ซัมป๊วต หรือสมปรต สมปักหรือสองปัก” สมปัก หรือ ถมปัด เป็นคำเพียงเสียงมาจาก ซัมป๊วต หรือ สมปรต ในภาษาเขมรแปลว่า ผ้าและสิ่งทอใช้สำหรับนุ่ง ซึ่งคำว่าโฮลในภาษาเขมรคือมัดหมี่ คำว่า ปูม เพียนเสียงมาจาก ภูมิปัญญาซึ่งในภาษาเขมรแปลว่าลำดับชั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยานำมาใช้จึงหมายถึงผ้าที่บ่งบอกระดับชั้น ยศ หรือตำแหน่งในราชการ ผ้าสมปัดที่ใช้ในราชสำนักแบ่งออกเป็น 3แบบ

  • สมปักลาย คือสมปักที่เกิดจากการพิมพ์ผ้าหรือที่เราเรียกว่าลายอย่าง โดยผลิตที่ประเทศอินเดีย อย่างเดียว ลวดลายได้รับการออกแบบจากวังหลวงแล้วจึงลงลวดลายให้ไปผลิตที่อินเดีย 

  • สมปักยก โดยการทอแบบผ้ายก โดยการสอดเส้นพิเศษเส้นไหม หรือเส้นโลหะที่เรียกว่า ผ้ายก ซึ่งสั่งผลิตในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา จีน อินเดีย และเปอร์เซีย 

  • สมปักปูมหรือสมปักไหม โดยการทอด้วยวิธีมัดหมี่ จากการโอบ ย้อม มัดเพื่อให้เกิดลวดลายในราชสำนักได้เลือกให้เป็นผ้านุ่งสำหรับขุนนาง พระราชทานลงมาตามลำดับชั้นยศ โดยการกำหนดโครงสร้างผ้า ลวดลาย องค์ประกอบ และรายละเอียดของลวดลายตามขั้นยศ บรรดาศักดิ์ของขุนนางในแต่ละกรม กอง ไว้นุ่งเข้าเฝ้าฯพระมหากษัตริย์ในเวลาปกติซึ่งไม่มีพระราชพิธีคือการใส่ไปปฏิบัติราชการและหน้าที่ ในแต่ละวัน นอกจากผ้าสมปัก โดยการทอในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งยังทอจากบริเวณพื้นที่เมืองพะตะบอง ซึ่งเรียกผ้าสมปักปูมว่า “โฮลแปรจักกราน” ลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นตารางสี่เหลี่ยมขาวหลามตัด สีที่ใช้ในผืนผ้าประกอบด้วย แดงน้ำหมาก เหลืองจัดออกส้ม และสีประกอบที่ ขับให้ลวดลายโดดเด่นประกอบด้วย เขียว ม่วง ชมพู ซึ่งได้รับอิทธิพลการทอผ้าโดยตรงจากประเทศอินเดีย ลักษณะลวดลายและการมัดหมี่เส้นพุ่งแบบผ้าปาโตลา ผ้าสมปักปูมที่หัวเมืองพะตะบองส่งเข้ากรุงศรีอยุธยาเป็นเครื่องบรรณาการให้แก่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา นอกจากการทอผ้าสมปักปูมเพื่อนุ่งแล้ว ยังมีผ้าโฮลพิดานหรือโฮลปิดาน เพื่อแขวนไว้บริเวณไพดานของวัด หอไตรสร้างบุญกุศลแก่ผู้ทอผ้าและผู้ถวายลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายนาค ช้าง ม้า พุทธประวัติ ชาดก ทศชาติ ของพระพุทธเจ้า และพระเวสสันดรชาดก สีที่ใช้ประกอบด้วย แดง ดำ เหลือง เขียว 

    (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศองค์การมหาชน, 2558)

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังยึดถือการแต่งกายอย่างกรุงศรีอยุธยา แต่มีการปรับให้มีการสวมใส่เสื้อโดยการปรับรูปแบบจากเสื้อของราชสำนักชวาเป็นเสื้อ “เสื้ออย่างนอก” และได้มีการตั้งโรงทอขึ้นในเมืองหลวงเรียกว่า “โรงไหมหลวง” และประเทศกัมพูชาซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณาเขตการปกครองของสยาม ทอผ้าส่งเข้ามาตามคำสั่งของสำนักสยาม ดังปรากฏในสาส์นสมเด็จ เล่มที่ 24ว่า “ว่าถึงผ้าปูม ทำให้เกิดอยากรู้ขึ้นมาว่า ชาติไหนทำผ้าปูม ว่าตามตัวอย่างผ้าปูมไทยก็มี ผ้าปูมเขมรก็มี ผ้าปูมทอมาแต่เมืองมลายูก็มี แต่ไม่เคยว่ามีผ้าปูมมอญ พม่าหรือญวนและจีน แต่นึกดูประเดี๋ยวก็ได้เค้าว่าเขมรเห็นทำก่อน ไทยเราเอาอย่างเขมร เพราะคำที่เรียกชื่อว่าปูม ก็มิใช้ภาษาไทยและในเมืองไทยมีโรงทอหลวงมาแต่โบราณ สำหรับผ้าสมปักปูมและสมปักกรวยเชิง พระราชทานเป็นเครื่องยศขุนนาง” (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศองค์การมหาชน, 2559)

นอกจากนั้นยังมีจดหมายเหตุ ร.4จ.ศ. 1215พ.ศ. 2396ร่างตราน้อยถึงเมืองกัมพูชาทรงประสงค์ศิลาลายผ้าสมปักโดยเร็ว จดหมายเหตุ ร.4จ.ศ. 1217พ.ศ. 2396 ร่างสารตรา ถึงเจ้าเมืองพะตะบองตอบเรื่องได้รับผ้าสมปักซึ่งให้หลวงบริรักษ์คุมเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายให้เจ้าเมืองกรมการจัดทอผ้าสมปักปูมทองนากดอกใหญ่ สีต่างๆ 4ผืนส่งเข้าไปทูลเกล้าฯถวายอีกให้ทันกำหนด ณ วัน 7ฯ12 6ค่ำ นอกจากนั้นจะพบว่าผ้าสมปักปูมรูปแบบของเขมรจะแตกต่างจากสมปักปูมที่ทอในโรงไหมหลวง เพราะการทอผ้าที่ส่งมาจาพะตะบองจะทอขึ้นโดย 3ตะกอ แต่ในโรงไหมหลวง จะทอเพียง 2ตะกอเท่านั้น การทอสามตะกอทำให้ผ้ามีความแข็งแรง ทนทาน และทำให้ลวดลายเด่นชัดมากกว่าการทอผ้า 2ตะกอ นอกจากนั้นสีที่ใช้ยังมีคุณภาพ และทอด้วยไหมน้อยคุณภาพเส้นดีจึงทำให้ขุนนางและชนชั้นสูงนิยมผ้าสมปักปูมที่ทอจากพะตะบอง (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศองค์การมหาชน, 2558)

ในขณะที่พะตะบองเป็นเมืองที่ผลิตผ้าสมปักปูมส่งเข้าเมืองสยาม ผ่านเส้นทางเดินสินค้าช่องจอม เสียมเรียบ พะตะบอง และศรีโสภณ เข้าสู่หัวเมืองอีสานใต้ผ่านเมืองสุรินทร์ ซึ่งบริเวณสุรินทร์ก็มีวัฒนธรรมการทอผ้าแบบเขมรโบราณจากกลุ่มชนเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เรียกว่าผ้า “โฮล” ซึ่งมีความหมายว่ามัดหมี่ จากเส้นทางการค้าและการส่งบรรณาการจึงมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และวัตถุดิบการทอผ้าจากเมืองพะตะบองผ่านเส้นทางดังกล่าว ทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้าโฮลที่มีมาแต่โบราณของเมืองสุรินทร์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวลักษณะเป็นแบบสมปักปูมดังเดิมมากกว่าในพื้นที่อื่น (กรมหม่อนไหม, 2555)

ผ้าโฮล ใช้เรียกเฉพาะเจาะจงถึงผ้านุ่งที่สร้างจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหมและนำมาทอให้เกิดลวดลาย ลักษณะโครงสร้างผ้าลักษณะเช่นเดียวกับผ้าปูมของขุนนางในราชสำนักสยาม มีองค์ประกอบของลวดลายที่มีลายหลักลายประกอบเช่นเดียวกับผ้าสมปักปูมในราชสำนักสยาม ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เรียกว่า “ โฮลเปราะฮ์” สำหรับผู้ชายนุ่ง และถ้าเป็นแบบสตรีจะทอเป็นลายริ้วเรียกว่า “โฮลแสร็ย” ในวัฒนธรรมเชื้อสายเขมรของจังหวัดสุรินทร์เป็นผ้ามัดหมี่ที่เป็นหลักฐานสำคัญซึ่งแสดงออกซึ่งแรงบันดาลใจในพระพุทธศาสนา โดยมีการทอผ้า “โฮลปิดาน” ในจังหวัดสุรินทร์เป็นจำนวนมาก ลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายนาค และหอไตย์ ช้าง ม้า และภาพมหาชาดกของพระพุทธเจ้า และแสดงออกถึงการเคารพและสัมมาคารวะที่สตรีจะให้เกียรติต่อบุรุษในฐานะผู้นำและผู้คุ้มครองครอบครัว ในการทอผ้ามัดหมี่ไว้ใช้เองโดยหลีกเลี่ยงการทอผ้าให้คล้ายกับการทอผ้าโฮลเปราะฮ์ ซึ่งเป็นลวดลายที่บุรุษที่เป็นขุนนางจะสามารถสวมใส่ แต่ยังคงทอผ้าลวดลายสิริมงคลให้แฝงอยู่ในลวดลายผ้า โดยการสลายลวดลาย จากลำหมี่ ทอสลับลายริ้ว เพื่อสร้างความมงคลให้กับตนเอง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2552)

ในขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาการตะวันตกแขนงต่างๆ สถานการณ์ของโลก และคบค้ากับชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นยุคของการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก หรือช่วงลัทธิจักรวรรดินิยม ทั้งโปรตุเกต ฝรั่งเศส ฮอลันดา และอังกฤษ โดยพระองค์ทรงลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับประเทศอังกฤษในการเปิดการค้าเสรีตามรูปแบบของระบบทุนนิยมของชาติตะวันตก เพื่อไม่สยามในขณะนั้นถูกยึดครองดินแดน ทรงประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้าเนื่องจากเป็นวิเทโศบายที่ต้องการจะค้าขายและผูกไมตรีกับชาติตะวันตก จึงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมที่เก่าที่สุด เริ่มมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งมีรูปแบบเป็นเครื่องประดับเรียกว่า “เครื่องยศ” เข้ามาใช้ร่วมกับการนุ่งผ้าสมปัก  ได้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับรูปแบบมากมายเพื่อให้สยามนั้นมีความเจริญทัดเทียมกับชาติตะวันตก การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายจึงเป็นปัจจัยอันดับต้นที่ต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นเองสยามได้เริ่มมีการปักปันเขตแดนในพื้นที่พะตะบองและเสียมเรียบกับฝรั่งเศส

จากลัทธิจักรวรรดินิยมที่เริ่มเข้ามาล่าอาณานิคมบริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชการที่ 5 ทรงให้ยกเลิกการนุ่งผ้าสมปักปูมซึ่งเป็นผ้าลักษณะเมืองเขมร เพราะเห็นว่า ในเขมรทั้งราชวงศ์ ขุนนาง ประชาชน ก็สวมใส่ผ้าสมปักจำนวนมากเช่นกันกับสยาม ขุนนางในสยามขณะนั้น ก็นุ่งผ้าสมปักปูมปักเชิง ปักล่องจวน ปักริ้ว เข้าเฝ้าตามธรรมเนียมมาแต่โบราณ ได้พระราชทานมาอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น ไม่มีการดูแลรักษา ถึงจะฉีกขาดก็ใช้นุ่งเข้าเฝ้าไม่เป็นที่เจริญพระเกียรติ จึงโปรดเกล้าฯให้งดเลิกสมปักยศทุกชนิดเสีย โปรดเกล้าฯให้เชื้อพระวงศ์และขุนนางนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินแทนสมปักปูมและสวมเสื้อต่างๆตามเวลา เกิดเป็นชุดราชปะแตนในเวลาต่อมาซึ่งเป็นการผสมผสานการแต่งกายของไทยกับชุดฝรั่ง ในเวลาต่อมาจึงเกิดเครื่องแบบทางการทหารที่ออกแบบและตัดเย็บแบบทหารชาติตะวันตก ในช่วงขณะนั้นเองสยาม ก็ได้เสียดินแดน เสียมเรียน พะตะบอง ศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส ทำให้การทอผ้าสมปักปูมในเขมรเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการแก่สยามได้หยุดลง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงและหยุดตัวลงของความนิยมผ้าสมปักปูม แต่ในเมืองจังหวัดสุรินทร์ยังมีการสืบทอดทักษะในกลุ่มคนพื้นเมือง ส่งต่อองค์ความรู้ในกลุ่มผู้ทอผ้าในครอบครัวหรือเรียกว่าครูช่างพื้นบ้าน และยังมีการสวมใส่ผ้าสมปักปูมในขุนนางหัวเมืองอีสานใต้ในบ่างพื้นที่ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 รัฐบาลเห็นว่าการนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน ถือว่าล้าสมัย จึงมีประกาศให้นุ่งกางเกงขายาวแทนการนุ่งโจงกระแบนยกเลิกการนุ่งโจงผ้าม่วง และให้ประชาชนแต่งการอย่างสากล ในช่วงเวลา พ.ศ. 2481-2487 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเพณีการต่างกายหลายประการ ประกาศให้สตรีไทยทุกคนไว้ผมยาว สวมหมวก เลิกการนุ่งโจงกระแบนสวมผ้าถุงสวมเสื้อแทน ซึ่งในขณะนั้นก็ยังมีข้าราชการบ่างส่วนยังนุ่งผ้าม่วง (พวงผกาคุโรวาท, 2523)แต่ก็เริ่มมีการเสื่อมความนิยมเนื่องจากการนุ่งผ้าม่วงยุ่งยากไม่สะดวกต่อการปฏิบัติราชการ จึงให้ข้าราชการเปลี่ยนมานุ่งกางเกงให้เป็นสากลเพื่อไม่ให้ต่างชาติดูหมิ่นชายไทย ต่อจากนั้นจึงมีประกาศแบบอย่างการแต่งกายทั้งชายและหญิงทั่งประเทศไทย จึงเป็นจุดยุติการนุ่งผ้าโจงกระแบนนุ่งสมปักปูมตามสมัยโบราณ เพื่อทำให้ประเทศเจริญขึ้นในมุมมองของชาติตะวันตก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงถือเป็นการปรับและเปลี่ยนเพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน มีเอกราชไม่ขึ้นต่อใคร ตลอดจนรอดพ้นจากการแพ้สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง (กิตติกรณ์นพอุดรพันธุ์, 2554)

ภาพประกอบ 12ภาพประกาศเรื่องการแต่งกายของไทยในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม

ที่มา: สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559).

ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อาทิ อเมริกา และยุโรป สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถจึงทรงรับสั่งให้ อาจารย์สมศรี สุกุมลนันท์ หาเครื่องแบบที่เป็นเอกลักษณ์ขอไทยตามโบราณ แล้วจึงดัดแปลงและออกแบบให้เข้ากับสมัยนิยมที่ใช้ทั่วไปจนเป็น “เครื่องแต่งกายชุดพระราชนิยมของไทย” และออกแบบให้กับบุรุษ “เสื้อแบบพระราชทาน” เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถตามเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี พ.ศ. 2498ทรงพบว่าสตรีที่มารับเสด็จมีการแต่งกายด้วยผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ต่างสีและต่างลวดลาย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริที่จะหาอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรยามเมื่อประสบปัญญาหรือว่างเว้นจากการทำการเกษตรด้วยพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่นอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านไว้ไม่ให้หายไปจากแผ่นดินไทย พระองค์จึงทรงเลือกงานผ้าไหมเป็นหนึ่งในอาชีพเสริมแก่ราษฎร โดยเฉพาะการทอผ้ามัดหมี่ของภาคอีสาน ด้วยราษฎรปฏิบัติและทออยู่แล้ว การประดิษฐ์ลวดลายจากจินตนาการของเขาเอง ซึ่งลวดลายนั้นเกิดขึ้นตามสภาพแวดล้อมและขนมธรรมเนียมประเพณีที่พบเห็นอยู่ทุกวัน เช่นลายสัตย์ต่างๆ ลายดอกไม้ ลายใบไม้ และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจึงทำให้เกิดการพื้นฟูผ้าโฮลในจังหวัดสุรินทร์ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งการดำเนินงานของศูนย์ศิลปาชีพ และกรมหม่อนไหมที่ได้ดำเนินตามโครงการพระราชดำริฯ (กรมหม่อนไหม, 2555)

อาจสรุปการพัฒนาการวัฒนธรรมที่มีผลจากการเปลี่ยนแปลงยุคการปกครองตั้งแต่อาณาจักรฟูนันจนถึงอาณาจักรขอมจนในปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดสำคัญของประเทศไทยที่มีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชาวเขมรที่เข้มแข็ง ทั้งรูปแบบของการใช้ชีวิต ภาษาพื้นถิ่น การสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่อตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างชัดเจน จากการศึกษาข้อมูลทำให้เราสามารถสรุปช่วงเวลาที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อภูมิปัญญาผ้าโฮล จากการศึกษาภูมิปัญญาการสร้างสีของลวดลายโฮล วัสดุให้สี เส้นใย กระบวนการย้อมสีทางวัฒนธรรม ผ้าโฮลในจังหวัดสุรินทร์ สรุปได้ว่าพัฒนาการทางด้านการปกครองเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภูมิปัญญาผ้าโฮล ซึ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และในช่วงรัชกาลที่ 5 ผ้าโฮลได้ถูกยกเลิกไม่ให้ใช้เนื่องจากเห็นว่าล้าสมัย และช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิปัญญาผ้าโฮลคือช่วงเวลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้ให้หญิงชายสวมใส่เสื้อผ้าแบบตะวันตก พร้อมทั้งรูปแบบของวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามาในประเทศไทยอย่างเต็มตัว ทั้งในด้านการเรียนการสอนรูปแบบของศิลปะตะวันตกที่เข้ามาตั้งแต่ช่วง รัชกาลที่ 4(วิบูลย์ลี้สุวรรณ, 2531)จนมาถึงช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ได้นำแนวคิดของการออกแบบตะวันตกมาประยุกต์กับผ้าไทย ทำให้เกิดการรื้อฟื้นภูมิปัญญาผ้าไหมและผ้าทอพื้นถิ่นของไทยประเภทอื่นๆ ตามมา  

แหล่งข้อมูล

วิทยานิพนธ์ หัวข้อการศึกษาเฉดสีย้อมธรรมชาติจากผ้าโฮลในจังหวัดสุรินทร์ สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

แพรวา รุจิณรงค์ 2018

THE STUDY AND DEVELOPMENT OF NATURAL DYE COLORS FROM “HOI TEXTILE” IN SURIN PROVINCE FOR TEXTILE PRODUCTS 

Phraeva Rujinarong 2018